ความเป็นมา-การริเริ่มกระบวนการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ ระหว่างปี 2544-2561
By TCIJ
-
ปี 2544 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-China
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2544 ผู้นำอาเซียน-จีนได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะเจรจา อาเซียน-จีน (Trade Negotiation Committee: TNC) เพื่อจัดทำกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาเซียน-จีน ที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่สมบูรณ์ภายใน 10 ปี ซึ่งต่อมา TNC ได้สรุปผลการเจรจาและจัดทำกรอบความตกลง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้นำอาเซียน-จีน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน (ASEAN-China Summit) ครั้งที่ 8 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2545 -
ปี 2544 เขตการค้าเสรีไทยกับ India
เดือน พ.ย. 2544 ผู้นำของไทยและอินเดียเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย-อินเดีย (Joint Working Group: JWG) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement) โดยผลการศึกษาได้สรุปว่าการจัดทำ FTA จะเป็นประโยชน์ร่วมกันในการขยายการค้าและการลงทุน และเกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ -
ปี 2545 เขตการค้าเสรีไทยกับ Japan (JTEPA)
ในระหว่างการประชุม Boao Forum for Asia ณ มณฑลไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2545 ผู้นำของไทยและญี่ปุ่นได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานพันธมิตรทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Working Group on Japan-Thailand Economic Partnership: JTEP) เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในเดือน พ.ย. 2546 ผู้นำของทั้งสองประเทศจึงได้เห็นชอบให้เริ่มการเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2546 -
ปี 2545 เขตการค้าเสรีไทยกับ Australia
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2545 นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ประกาศให้เริ่มการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) -
ปี 2545 เขตการค้าเสรีไทยกับ Bahrain
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2545 ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อจัดตั้งความตกลงการค้าเสรีไทย-บาห์เรน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2545 รัฐมนตรีการค้าของทั้งสองประเทศได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-บาห์เรน -
ปี 2545 เขตการค้าเสรีไทยกับ USA
ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2545 ณ เมืองลอสคาบอส ประเทศเม็กซิโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยและสหรัฐฯ ร่วมลงนามกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อปูทางสำหรับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในอนาคต ต่อมาในการประชุมผู้นำเอเปคเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2546 ณ กรุงเทพฯ ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เห็นชอบให้เริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน โดยให้เริ่มการเจรจาในปี 2547 -
ปี 2545 เขตการค้าเสรีไทยกับ Peru
ในช่วงการประชุมผู้นำเอเปค ในเดือน ต.ค. 2545 ณ เมืองลอสคาบอส ประเทศเม็กซิโก นายกรัฐมนตรีของไทย (นายทักษิณ ชินวัตร) และประธานาธิบดีของเปรู (นายเอลคานโดร โตเลโด) มีความเห็นร่วมกันในหลักการให้มีการเจรจา FTA และให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกัน -
ปี 2546 เขตการค้าเสรีไทยกับ BIMSTEC
ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า BIMSTEC ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6-7 มี.ค. 2546 ณ ประเทศศรีลังกา ที่ประชุมได้เห็นชอบให้จัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่างกรอบความตกลงการค้าเสรี BIMSTEC และได้จัดทำกรอบความตกลงแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2546 ซึ่งได้รับความเห็นชอบและลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า BIMSTEC รวม 6 ประเทศ ยกเว้นบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2547 ในช่วงการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย และบังกลาเทศได้ร่วมลงนามกรอบความตกลงฯ ในเดือน มิ.ย. 2547 -
ปี 2546 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-India
ผู้นำอาเซียน-อินเดีย ได้ร่วมลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดทำ FTA อาเซียน-อินเดีย เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2546 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย เริ่มเจรจาความตกลงการค้าสินค้าเมื่อเดือน มี.ค. 2547 และเจรจาอย่างเป็นทางการรวมทั้งสิ้น 21 ครั้ง จึงสามารถจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเสร็จสิ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2551 ใช้เวลาการเจรจาเปิดเสรีภาคสินค้ารวม 4 ปี 8 เดือน -
ปี 2546 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-Japan
ผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่นได้ร่วมลงนามในกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (Framework for Comprehensive Economic Partnership between ASEAN and Japan) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2546 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้เมื่อเดือน มิ.ย. 2552 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าสินค้าและกำหนดให้เริ่มเจรจาจัดทำข้อบทการค้าบริการและการลงทุน 1 ปี หลังจากความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ประเทศสมาชิกจึงได้เริ่มเจรจาข้อบทการค้าบริการ และการลงทุนเมื่อเดือน มิ.ย. 2553 -
ปี 2546 เขตการค้าเสรีไทยกับ Chile
การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี เกิดขึ้นจากแนวคิดในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับประธานาธิบดีของชิลี (H.E. Mr. Ricardo Lagos Escobar) ในการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2546 จากนั้นกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2553 ซึ่งต่อมาได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2553 และวันที่ 15 ก.ย. 2553 ตามลำดับ -
ปี 2546 เขตการค้าเสรีไทยกับ New Zealand
เมื่อวันที่ 17-21 ต.ค. 2546 ในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 11 ณ กรุงเทพฯ ผู้นำไทยและนิวซีแลนด์ได้เห็นชอบให้จัดทำการศึกษาร่วมความเป็นไปได้ในการทำความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ และเห็นชอบให้เริ่มการเจรจา เมื่อเดือน พ.ค. 2547 ได้เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงฯ และสามารถสรุปผลการเจรจาได้ในเดือน พ.ย. 2547 -
ปี 2547 เขตการค้าเสรีไทยกับ EFTA
ประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิสได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 17-19 มี.ค. 2547 ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ -
ปี 2547 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-Australia-New Zealand
ผู้นำอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ตกลงให้เริ่มการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2547 ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว -
ปี 2548 เขตการค้าเสรีไทยกับ Pakistan
ในระหว่างการเยือนประเทศไทยของนายรัฐมนตรีปากีสถาน (H.E.Mr. Shaukat Aziz) ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ค. 2548 นายกรัฐมนตรีปากีสถานได้หารือกับนายกรัฐมนตรีไทย (นายทักษิณ ชินวัตร) และเห็นพ้องที่จะจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี -
ปี 2548 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-Korea
ในการประชุมผู้นำอาเซียน-เกาหลี เมื่อ ธ.ค. 2548 อาเซียนและเกาหลีสามารถสรุปผลการเจรจาและได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความตกลงว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท ต่อมาในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลี ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ค. 2549 อาเซียน 9 ประเทศ (ยกเว้นไทย) และเกาหลีได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า -
ปี 2550 เขตการค้าเสรีไทยกับ EU
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและสหภาพยุโรป ประกาศเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2550 โดยมีคณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ทำหน้าที่ควบคุมการเจรจาในภาพรวม ต่อมาเมื่อวันที่ 4-5 มี.ค. 2552 ณ ประเทศมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศหยุดพัก (Pause) การเจรจา เนื่องจากฝ่ายสหภาพยุโรป มีปัญหาด้านนโยบายระหว่างประเทศที่ไม่ยอมรับให้พม่า ซึ่งในครั้งนั้นสหภาพยุโรปได้แสดงความสนใจที่จะเจรจากับสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย เท่านั้น -
ปี 2550 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-EU
ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและสหภาพยุโรป ครั้งที่ 8 ณ ประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2550 ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปโดยเป็นการเจรจาระหว่างภูมิภาคต่อภูมิภาค -
ปี 2554 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-GCC
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2554 รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านเศรษฐกิจ) ของโอมาน ได้เข้าหรือกับอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายโอมานได้ยื่นเอกสารตัวอย่าง Framework Agreement โดยแจ้งว่าเป็นรูปแบบความตกลงที่ GCC ใช้เป็นรากฐานในการเจรจา การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน-GCC มีขึ้นครั้งแรก ณ เมืองซาลาลาห์ รัฐสุลต่านโอมาน เมื่อวันที่ 11-12 ก.ค. 2554 โดยที่ประชุมเห็นชอบให้เจรจากรอบความตกลงการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลำดับต่อไป -
ปี 2554 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-Hong Kong
เดือน พ.ย. 2554 ฮ่องกงยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) อย่างเป็นทางการต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน -
ปี 2555 เขตการค้าเสรีไทยกับ Canada
นายกรัฐมนตรีของไทย (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และนายกรัฐมนตรีแคนาดา (นาย Stephen Harper) ได้เห็นพ้องให้เริ่มการหารือ Exploratory Discussion เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย-แคนาดา เมื่อเดือน มี.ค. 2555 -
ปี 2555 เขตการค้าเสรีไทยกับ RCEP
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2555 ผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ (ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ได้ออกปฏิญญาร่วมเพื่อประกาศให้มีการเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการในปี 2556 และเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2558 ในการประชุม RCEP Summit ณ มาเลเซีย ผู้นำ RCEP ได้ออกแถลงการณ์ขยายระยะเวลาการเจรจาจากเป้าหมายเดิมปี 2558 เป็นปี 2559 -
ปี 2555 เขตการค้าเสรีไทยกับ Turkey
นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เดินทางเยือนสาธาณรัฐตุรกี เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2556 ซึ่งในโอกาสดังกล่าวนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2561) และเห็นควรให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ (Joint Feasibility Study) ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี -
ปี 2558 เขตการค้าเสรีไทยกับ ASEAN-EAEU
นายกรัฐมนตรีของไทย (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค. 2559 ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะขยายการค้าและการลงทุน และสนับสนุนให้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) -
ปี 2558 เขตการค้าเสรีไทยกับ Sri Lanka
เมื่อวันที่ 1-4 พ.ย. 2558 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (นายไมตรีปาละ สิริเสนา) เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และได้เข้าพบและหารอข้อราชการกับนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ต่อมารองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้เดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 – 12 มี.ค. 2559 ซึ่งไทยและศรีลังกาเห็นพ้องร่วมกันว่าควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและศรีลังกา -
ปี 2558 เขตการค้าเสรีไทยกับ TPP
ในการประชุมด้านเศรษฐกิจในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 20-22 พ.ย. 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในการหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีของไทยได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นพร้อมจะให้การสนับสนุนไทยในการเข้าร่วมความตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) -
ปี 2561 เขตการค้าเสรีไทยกับ CPTPP
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่าสำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (CPTPP) โดยฝ่ายไทยย้ำความมุ่งมั่นในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP และฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าวของไทย โดยจะเริ่มเสนอชื่อไทยเป็นสมาชิกใหม่ในการประชุมชาติสมาชิกที่ญี่ปุ่นระหว่าง 17-20 ก.ค. 2561 นี้ เป็นครั้งแรก